

ถึง มาร์โค โปโล
สวัสดีจากเวนิส!
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมมาเยือนบ้านเกิดของคุณ แต่นับว่าเป็นครั้งที่ผมได้อยู่นานที่สุด สิบวันแรกที่ผมต้องกักตัวตามข้อบังคับที่เนื่องมาจากโรคระบาดซึ่งแพร่ไปทั่วโลกนั้นถือเป็นประสบการณ์ที่ดีเลยทีเดียว แต่การได้อยู่คนเดียวทำให้ผมมีเวลามากมายในการประเมินถึงสิ่งต่างๆ และสนุกกับการอ่านเรื่องราวการเดินทางผจญภัยในเอเชียที่โด่งดังของคุณ ซึ่ง รุสติเชลโล ดา ปิซา เพื่อนของคุณนำมาเขียนเล่าไว้ตามความทรงจำที่คุณเล่าให้เขาฟังตอนที่คุณทั้งสองถูกจองจำอยู่ในคุกที่เจนัว ผมประทับใจกับเรื่องราวของคุณและทึ่งที่ได้รู้ว่าหนังสือเล่มนี้ถูกแปลเป็นภาษายุโรปหลายภาษาในช่วงชีวิตของคุณ ซึ่งชื่อภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้คือ The Travels of Marco Polo แต่บางฉบับที่เก่ากว่านั้นก็ใช้ชื่อว่า The Description of the World ซึ่งแปลมาจาก Devisement du Monde อันเป็นชื่อหนังสือในฉบับดั้งเดิมที่เขียนด้วยภาษา Franco-Venetian นั่นเอง นับตั้งแต่การพิมพ์ครั้งแรก มีคนมากมายสงสัยว่าคุณได้ไปเยือนสถานที่เหล่านั้นจริงๆ หรือแค่เอาเรื่องเล่าขานของนักเดินทางคนอื่นๆ มาเล่าต่อกันแน่ บางคนถึงขนาดคาดเดาไปว่าหนังสือภาษาอิตาลีของคุณที่ชื่อว่า II Milione หรือฉบับภาษาอังกฤษ The Million นั้น มีเรื่องโกหกอยู่ในนั้นมากมาย แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม การเดินทางของคุณก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเดินทางมากมายนับไม่ถ้วน และชื่อเสียงของคุณในฐานะนักบุกเบิกและนักเดินทางสำรวจโลกในตำนานก็ยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย แม้จะผ่านมาถึง 700 ปีแล้วก็ตาม
การเดินทางของผม
ในฐานะศิลปินที่มักจะสร้างผลงานจากการเดินทางของตัวเอง ผมก็มีประสบการณ์ของตัวเองที่อยากจะบอกเล่ากับคุณบ้างเหมือนกัน แม้จะไม่มีเรื่องเล่าเป็นล้านๆ เรื่อง แต่สิ่งที่ผมจะเล่าให้คุณฟังในจดหมายฉบับนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อโลกซึ่งถูกแบ่งแยกอย่างในทุกวันนี้ รวมไปถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ผมรวบรวมมาจากผู้คนมากมายที่ได้พานพบในการเดินทางครั้งนี้
ก่อนจะเริ่มเล่าเรื่อง ผมขอบอกก่อนว่า ผมอยู่ในศตวรรษที่ 21 พูดแบบชัดๆ ก็คือปี 2021 (MMXXI) ผมนาวิน เป็นชายจากตะวันออก ประเทศบ้านเกิดคือราชอาณาจักรไทย แต่มีชื่อเรียกในแผนที่โบราณว่า สยาม แต่ในยุคของคุณ ดินแดนส่วนนี้คงจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นชื่อที่ปรากฏในวรรณกรรมโบราณนั่นเอง ชื่อนี้หมายถึงดินแดนแห่งทองคำ ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคตามสภาพภุมิศาสตร์ที่เรียกกันในวันนี้ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากที่ได้อ่านเรื่องราวของคุณ ดูเหมือนคุณเคยเดินทางผ่านดินแดนส่วนนี้ของโลกเช่นกัน แต่ไม่มีตอนใดที่บันทึกไว้เลยว่าคุณได้เดินทางไปยังอาณาจักรใดๆ ที่เคยครอบครองประเทศบ้านเกิดของผมในสมัยนั้นเลย รู้ไหมครับว่าเมืองหลวงของประเทศผมเคยถูกขนานนามว่าเป็น ‘เวนิสแห่งตะวันออก’ ด้วย และต้องบอกด้วยว่า ครอบครัวผมมีเชื้อสายมาจากแคว้นปัญจาบของอินเดียโบราณ การที่ผมใช้คำว่า ‘โบราณ’ เพราะบ้านเกิดของบรรพชนของผมได้กลายเป็นประเทศปากีสถานไปแล้วในตอนนี้ ประเทศใหม่นี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 75 ปีก่อน เมื่อครั้งที่อินเดียถูกแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ หลังสงครามกลางเมืองซึ่งเป็นเหตุให้ผู้คนต้องล้มตายไปกว่า 10 ล้านคน เนื่องจากความแตกต่างทางศาสนา


ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร
ในการเดินทางครั้งนี้ ผมมีโอกาสได้พบกับหลายคนที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาเวนิส หลายคนบอกกับผมว่า สงครามเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เขาต้องละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนมา คนแรกที่ผมได้คุยด้วยเป็นชายจากแถบเอเชียกลางซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารหลายแห่งในใจกลางเวนิส เมื่อสิบห้าปีก่อนเขามาที่นี่พร้อมกับเพื่อนอีกสองคนเพื่อเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ซึ่งเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกและขึ้นจัดเป็นประจำทุกปี คุณอาจสงสัยว่า “ภาพยนตร์” คืออะไรกันแน่? พูดง่ายๆ ก็คือ ภาพยนตร์สมัยใหม่ก็เปรียบได้กับละครในยุคของคุณนั่นเอง ตอนอายุ 25 ปี ชายคนนี้มาเวนิสเพราะภาพยนตร์เป็นหลักเลย แต่เมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศของเขาเลวร้ายลง เขาจึงตัดสินใจขอสถานะผู้ลี้ภัย หลายปีหลังจากที่เริ่มต้นชีวิตใหม่ในเวนิส โชคชะตาก็ทำให้เขาได้พบกับผู้ลี้ภัยคนอื่นจากที่ต่างๆ และร่วมกันเปิดร้านอาหารขึ้นมาร้านหนึ่ง
ร้านอาหารแห่งนั้นชื่อ ‘Orient Experience’ เมนูอาหารในร้านจะมาจากอาหารในบ้านเกิดของพวกเขาในโลกตะวันออก แต่ทุกจานได้รับอิทธิพลจากชีวิตส่วนตัวและประสบการณ์จากการเดินทางอพยพเข้ามาในยุโรป บ้างก็เดินทางมาทางถนน บ้างก็เสี่ยงภัยข้ามน้ำข้ามทะเลมาในเรือประมงลำเล็กๆ บางคนใช้เวลาเดินทางเป็นเดือน ขณะที่บางคนใช้เวลาเป็นปี จุดเริ่มต้นของทุกการเดินทางที่เต็มไปด้วยภยันตรายนี้ก็คือความหวังในอนาคตที่ดีกว่า แต่ละคนต้องเดินทางผ่านสถานที่ต่างๆ และข้ามพรมแดนมานับไม่ถ้วนก่อนที่จะมาถึงจุดหมายปลายทาง อาหารของท้องถิ่นที่พวกเขาได้กินระหว่างทาง ส่วนประกอบที่ใช้ และวิธีดัดแปลงสูตรอาหาร เกิดเป็นแรงบันดาลใจเป็นเมนูอาหารดังกล่าว นอกจากประสบการณ์จากร้าน Orient แล้ว พวกเขายังมีสาขาชื่อ ‘African Experience’ ซึ่งก็อย่างที่ชื่อร้านบ่งบอก เมนูในร้านนี้มาจากประสบการณ์การลี้ภัยมาจากแอฟริกาของพวกเขานั่นเอง ผมได้มีโอกาสลองชิมอาหารในทั้งสองร้านนี้และรับรู้ได้เลยว่า นี่คือสถานที่อันเกิดจากการหล่อหลอมทางวัฒนธรรมและประสบการณ์อย่างแท้จริง
ประสบการณ์ในอาหารท้องถิ่นของผมยังคงมีอย่างต่อเนื่องเมื่อเพื่อนชาวอิตาลีแนะนำให้ผมได้รู้จักกับสตรีชาวเวนิสสองคนซึ่งได้เชิญให้ผมไปรับประทานอาหารกลางวันที่บ้าน ทั้งสองเคยเป็นครู สตรีเจ้าของบ้านหลังนั้นเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เกษียณและใช้เวลาสนุกกับงานศิลปะ ส่วนเพื่อนของเธอนั้นเป็นนักเขียน อาหารที่พวกเธอทำให้ผมลองทานในวันนั้นเป็นอาหารเวนิส เริ่มจากปลาหมึกในซอสสีดำ ซึ่งอาหารจานนี้บางคนอาจจะใส่มะเขือเทศเชอรี่ลงไปด้วย แต่ทั้งสองคนบอกผมอย่างภาคภูมิใจว่าถ้าเป็นสูตรเวนิสแท้ๆ ซอสจะเป็นสีดำสนิท! ผมสารภาพตามตรงว่า ถ้าดูแค่สีอาจดูไม่น่ากินนัก แต่รสชาตินั้นอร่อยอย่าบอกใคร ในส่วนของพาสต้า ชาวเวนิสชอบใช้บิโกลีสปาเก็ตตีซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากเวเนโต้ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ลองชิมบิโกลีซึ่งมีรสชาติแตกต่างจากพาสต้าแบบอื่นๆ เพราะใช้แป้งชนิดหยาบ และวันนั้นก็เป็นครั้งแรกเช่นกันที่ผมได้กิน ซิคาร่า ดิ มาเร ซึ่งผมเดาว่าน่าจะเป็นกุ้งลอบสเตอร์ชนิดหนึ่ง เมื่อรู้ว่าอาหารเวนิสแท้ๆ ทั้งหมดนี้มีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยากไม่น้อย จึงถือเป็นอาหารมื้อพิเศษสำหรับผม ในวันนั้นพวกเธอเชิญเพื่อนสนิทมาด้วย พวกเราทานอาหารกลางวันและแชร์เรื่องราวร่วมกัน ผมยังได้แนะนำงานศิลปะที่ผมทำให้พวกเขาได้ชมด้วย
ระหว่างมื้ออาหารกลางวันอันแสนอบอุ่นท่ามกลางบรรยากาศสบายๆ นั้นเอง ผมมีโอกาสได้ชิมเค้กตำรับจากบ้านเกิดของคุณ ซึ่งมีชื่อว่า แพนโดโร หรือ ‘ขนมปังทองคำ’ มีคนบอกผมว่านี่เป็นอาหารของชาวเวนิสชั้นสูงมาเนิ่นนานย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่สิบสาม และยังคงเป็นเค้กคริสมาสต์ที่นิยมกินทั่วประเทศอิตาลีจนถึงทุกวันนี้ วันนั้นไม่ใช่วันคริสมาสต์แต่เจ้าของบ้านบอกว่าอาหารมื้อนี้เป็นมื้อพิเศษสำหรับเธอเช่นกัน ซึ่งถือเป็นงานสังสรรค์ครั้งแรกของฤดูกาลสำหรับพวกเขาทุกคน ทุกคนชอบของหวานสไตล์อินเดียที่ผมทำให้ชิม เป็นชานมใส่เครื่องเทศสูตรดั้งเดิม ผมเล่าให้ฟังว่าทุกครั้งที่ได้ดื่มชานมนี้จะทำให้ผมนึกถึงแม่ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว และชีวิตของแม่เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะให้กับผมได้อย่างไร


เสื้อวิเศษและโชคชะตาของผม
ขณะทำอาหารอยู่ในครัว ผมมีโอกาสได้เล่าถึงที่มาของเสื้อตัวที่ผมสวมในวันนั้นด้วย ซึ่งเป็นเสื้อธรรมดาๆ ที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในโลกสมัยใหม่ที่เรียกกันว่า เสื้อยืด นั่นเอง ผมซื้อมาจากตอนที่เดินทางไปปากีสถาน จริงๆ แล้วเป็นงานศิลปะที่ศิลปินหนุ่มชาวอินเดียที่อยู่ในงานนิทรรศการวันนั้นมอบให้ผม ลายเสื้อด้านหน้ามีคำว่า ‘Gujranwala’ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแม่และต้นตระกูลของผมก่อนที่จะอพยพเข้ามาในเมืองไทย บนเสื้อตัวยังพิมพ์สัญลักษณ์ของเมืองเป็นภาษาฮินดีและภาษาอูรดู พร้อมวลีสั้นๆ ทั้งสองภาษาซึ่งมีความหมายว่า “ที่นี่ด้วย” ผมได้เรียนรู้ว่ากุชรันวาลานั้นไม่ใช่แค่ชื่อเมืองในปากีสถาน แต่ยังเป็นชื่อเรียกย่านชานเมืองแห่งหนึ่งในเมืองหลวงของอินเดียอีกด้วย เมื่อมองดูเสื้อยืดตัวนี้และตัวอื่นที่คล้ายๆ กันซึ่งศิลปินคนนี้ทำขึ้น ผมคิดว่าเขาพยายามจะสร้างสำนึกถึงความเป็นเจ้าของและการอยู่ร่วมกันซึ่งสำคัญยิ่งกว่าพรมแดนทั้งปวง
กว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เสื้อยืดตัวนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางชีวิตของผม ตอนแรกก็ดูจะคับไปเล็กน้อย แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผมผอมลงและพกติดตัวไปดูไบด้วย ซึ่งเป็นเมืองหลวงอันมั่งคั่งในตะวันออกกลาง หรืออาระเบียและเป็นเมืองที่สร้างขึ้นกลางทะเลทราย ขณะที่เดินอยู่ในมุมไบ มีสตรีมุสลิมคนหนึ่งชี้ที่เสื้อตัวนี้แล้วพูดว่า “นี่บ้านเกิดของฉัน!’ สีหน้าเธอดูมีความสุขแต่ก็ประหลาดใจว่าผมเป็นเจ้าของเสื้อยืดตัวนี้ได้อย่างไร เพราะบ้านเกิดของเธอไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังและไม่น่าจะมีใครเอาไปทำเป็นของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว หลังจากที่เล่าที่มาของเสื้อตัวนี้ให้เธอฟัง ผมจึงเกิดความคิดที่จะสร้างงานศิลปะชิ้นใหม่ขึ้นมา ในช่วงเวลาที่เหลือในดูไบ ผมสวมเสื้อยืดตัวนั้นทุกวันตอนที่ออกไปท่องเที่ยวในเมืองนั้น และก็เป็นอย่างที่ผมหวังไว้ เสื้อตัวนั้นช่วยให้ผมได้พบกับชาวเมืองกุชรันวาลาคนอื่นๆ ชาวปัญจาบจากหมู่บ้านต่างๆ และคนที่มีพื้นเพจากเอเชียใต้ก็เข้ามาพูดคุยขอบคุณเสื้อยืดจากกุชรันวาลากับผมเช่นกัน จากการได้พบปะกับคนเหล่านี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องราวการอพยพถิ่นฐาน และความเป็นมาที่พวกเขาได้มาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ของโลก ณ วันนี้ได้อย่างไร
หลังจากนั้นอีกสองสามปี เสื้อยืดวิเศษของผมกลับมาคับอีกครั้ง แต่ด้วยผมรักเสื้อตัวนี้มาก ผมจึงตัดสินใจสั่งทำใหม่ในขนาดที่ใหญ่ขึ้น และทำเผื่อไว้หลายตัวเพื่อจะได้สวมใส่บ่อยๆ แถมยังแจกให้เพื่อนๆ และคนที่ได้เห็นเสื้อตัวนี้แล้วชอบด้วย
ประมาณสามปีก่อน ผมเดินทางไปกรุงโรมและนำเสื้อ Gujranwala ตัวใหม่ไปด้วย ตอนอยู่ในโรมผมก็ยังทำเหมือนเดิมคือใส่เสื้อยืดตัวนี้ทุกวัน ขณะไปเที่ยวในเมือง มีคนแนะนำให้รู้จักนักข่าวชาวปากีสถานซึ่งอาศัยอยู่อิตาลีมานานกว่า 20 ปี และเขาก็ชอบใจมากที่ได้เห็นผมใส่เสื้อยืด Gujranwala และพูดเหมือนกันว่า ‘นี่บ้านเกิดผม!’ เราจึงกลายเป็นเพื่อนกันอย่างรวดเร็ว และเขาก็เล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชาวอินเดียในแถบนี้ ผมเองเริ่มค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับชาวอินเดียที่อพยพไปอยู่ต่างแดน และการค้นพบครั้งใหม่นี้ก็ทำให้ผมได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนชาวเอเชียใต้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวในดินแดนที่เรียกรวมกันว่า ‘อนุทวีป’ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าในยุคของคุณนั้นพื้นที่แถบนี้เรียกว่าอะไร แต่ในทางภูมิศาสตร์แล้วนี่เป็นคาบสมุทรในแถบเอเชียกลางตอนใต้ ภูมิภาคนี้เคยถูกเรียกว่า อนุทวีปเอเชียด้วยเช่นกัน แต่คำว่า เอเชียใต้ จะเป็นคำที่แพร่หลายมากกว่าในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ
อย่างไรก็ตาม ผมลืมบอกไปว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาซึ่งไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ ผมลดน้ำหนักและสามารถกลับมาสวมเสื้อยืดตัวเดิมได้อีกครั้ง! แม้อาหารอร่อยๆ ในเวนิสจะทำให้น้ำหนักของผมขึ้นมาบ้าง แต่ก็หวังว่าสมบัติชิ้นนี้จะช่วยชี้นำโชคชะตาให้กับผมต่อไปสำหรับการเดินทางในอนาคต


เกี่ยวกับ Desi และ แขก
ในการเดินทางไปกรุงโรมครั้งนั้น ผมยังได้รู้จักกับคำว่า ‘desi’ ซึ่งเป็นคำที่ชาวยุโรปใช้เรียกขานผู้คน วัฒนธรรม และผลิตภัณฑ์ที่มาจากอินเดียหรืออนุทวีป รวมไปถึงคนอินเดียพลัดถิ่นด้วย ในประเทศของผมเองก็มีคำที่คล้ายๆ กันนั้น ก็คือคำว่า ‘แขก’ ซึ่งหมายถึงคนที่มีเชื้อสายอินเดีย โดยทั่วไปแล้ว คำนี้หมายถึง ‘ผู้มาเยือน’ แต่บ่อยครั้งมักกลับถูกใช้เป็นนัยหมายถึงคนนอก สมัยเด็กๆ ผมไม่ชอบเลยที่ถูกใครๆ เรียกว่า ‘แขก’ แม้ว่าผมจะเกิดในเมืองไทยและพูดไทยได้คล่องเหมือนคนท้องถิ่น ทำให้ผมเติบโตขึ้นมาด้วยความรู้สึกที่ต้อยต่ำและอยากรู้ถึงที่มาของตัวเอง และยังจุดประกายในงานงานศิลปะของผมอีกด้วย
ช่วงที่ผมไปเวนิสตรงกับฤดูหนาว ดังนั้น เสื้อยืด Gujranwala ของผมจึงถูกสวมทับด้วยเสื้อแจ็กเก็ตเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่กระนั้นผมก็ยังได้เจอคนที่หน้าตาเหมือน ‘แขก’ ที่ไม่ใช่นักท่องเที่ยว หลายคนที่ผมได้เจอทำงานในร้านอาหารและโรงแรม บ้างก็ขายของที่ระลึกตามถนน ตอนที่ไปเมสเตรซึ่งเป็นแผ่นดินใหญ่ของเวนิส ผมยังได้เจอพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดและขายของในใจกลางเมือง ขณะที่ผมเดินเล่นอยู่นั้น ใบหน้าเหมือน ‘แขก’ ของผมช่วยให้ผมเข้าถึงบรรดาคนที่ย้ายถิ่นฐานมาจากที่อื่นและรู้สึกใกล้ชิดเหมือนเป็นพี่น้องกันได้อย่างง่ายดาย! ตอนที่เดินทางผ่านอินเดีย ผมเดาว่าคุณก็คงได้เห็นคนหน้าตาแบบนี้เหมือนกันใช่ไหม? คุณรู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้เจอพวกเราเป็นครั้งแรก?


บ้านหลังที่สอง
ไม่ว่าผมจะเดินทางไปที่ไหนก็ตาม คนจากประเทศบ้านเกิดของผมก็ให้การต้อนรับผมอย่างอบอุ่นเช่นกัน ในการเดินทางครั้งนี้มีสตรีชาวไทยคนหนึ่งที่แต่งงานกับชาวเวนิส ได้อาสาพาผมเที่ยวเวนิสและแนะนำให้ผมรู้จักกับเพื่อนชาวไทยของเธอด้วย พวกเขาพาผมไปเลี้ยงที่ร้านอาหารจีนซึ่งมีเป็ดย่างอร่อยมาก! ผมมั่นใจว่าคุณก็คงได้ชิมเป็ดย่างมาแล้ว แต่เชื่อว่าคงจะเทียบไม่ได้กับอาหารที่ Mongol Emperor Kublai Khan จัดเลี้ยงคุณแน่นอน? ที่บ้านนิยมทานอาหารจีนกัน แต่คนไทยขาดพริกไม่ได้เลย วันนั้นจึงมีคนไทยทำอาหารรสชาติเผ็ดมาเข้ามาในงานปาร์ตี้ของเราด้วย แถมเธอยังทำมาเผื่อให้เชฟชาวจีนในร้านได้ชิมอีกต่างหาก คืนนั้นเราทั้งกินทั้งดื่มกันอย่างสนุกสนาน ชาวจีนเจ้าของร้านยกไวน์ชั้นดีจากเวเนโต้มาให้เราขวดหนึ่ง ชายคนหนึ่งที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านของผมก็เข้ามาร่วมวงกับเรา เขาไม่ชอบดื่มแต่คุยเก่งมาก ผมคิดว่านี่ก็เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนเอเชียคือชอบคุยและซุบซิบนินทามาก ผมเดาว่าวัฒนธรรมของคุณก็คงเหมือนกัน เพราะอย่างนั้นคุณถึงได้มีเรื่องราวมาเล่าขานให้เราฟังเป็นล้านๆ เรื่อง? อ้อ ผมยังไม่เคยบอกใช่ไหมครับว่า ชื่อหนังสือของคุณในฉบับแปลไทยก็คือ ความมหัศจรรย์ของโลกและเรื่องซุบซิบนับล้าน ผมหวังว่าคุณจะชอบนะ


อาหารสมองยังไม่จบ...
เมื่อพูดถึงอาหาร คุณรู้ไหมว่าจนกระทั่งตอนนี้ก็ยังมีข้อถกเถียงกันว่าคุณเป็นคนนำเส้นสปาเก็ตตี้จากจีนเข้ามาในอิตาลีเป็นคนแรกจริงหรือไม่ ตามตำนานเล่าว่าเส้นยาวๆ ที่ทำจากแป้งกับน้ำแบบนี้มีพัฒนาการมาจากก๋วยเตี๋ยวของคนจีน แต่ชาวยุโรปอ้างว่าวัฒนธรรมของพาสต้านั้นมีอยู่แล้วในดินแดนเมดิเตอเรเนียน ทั้งในหมู่ชาวกรีกโบราณและต่อมาก็ชาวโรมัน หลายร้อยปีก่อนที่คุณจะเดินทางไปยังโลกตะวันอ หลายคนก็ตั้งข้อสงสัยทำนองเดียวกันนี้กับพิซซ่าด้วย เพราะข้อมูลทางประวัติศาสตร์บางส่วนบ่งชี้ว่ามีที่มาจากอียิปต์ ขณะที่บางคนคิดว่าได้รับอิทธิพลมาจากขนมปังที่กินกันอินเดียและอาหรับมาหลายร้อยปี ผมรู้สึกทึ่งทุกครั้งที่รู้ว่าอาหารที่ผมคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมอันยาวนานถูกดัดแปลงมาจากที่อื่น นั่นแสดงให้เห็นว่าเราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นฐานได้
...และต้องไม่พลาดกับทัวร์ชิมไวน์!
ไวน์ก็สามารถสอนเราเรื่องการย้ายถิ่นฐานได้เช่นกัน ดึกคืนหนึ่งเพื่อนชาวอิตาลีพาผมไปยังร้านไวน์เล็กๆ ริมคลอง เขาเล่าว่าบาร์ลักษณะนี้เรียกว่า ‘บาคาโล’ ซึ่งพบได้ทั่วไปในเวนิสและคนมักเวนิสมาดื่มไวน์ไปพร้อมกับกินขนมแบบชาวเวนิส ซึ่งเรียกเป็นภาษาอิตาลีว่า ‘ชิเคติ’ โดยเฉพาะบาคาโลที่เรามาในคืนนั้นเสิร์ฟไวน์จากพื้นที่รอบทะเลเอเดรติก ผมได้มีโอกาสคุยกับเจ้าของร้าน เขาให้ผมลองชิมไวน์แดงจากกรีซ เขาชี้ไปที่ภาพที่แขวนอยู่ที่ผนังแล้วเริ่มเล่าความเป็นมาของการตั้งบาคาโลแห่งนี้และที่มาของชื่อเอเดรติก ภาพวาดเก่าแก่นี้เป็นภาพเรือที่ขนถังไวน์ข้ามทะเลตอนกลางคืน ซึ่งก็คือการลักลอบขนไวน์จากเมืองชายทะเลที่มีชื่อว่า ปิราโน นั่นเอง หลังจากได้ทำความรู้จักเรื่องราวของเมืองนี้ที่ตั้งอยู่ริมทะเลเอเดรียติกซึ่งมีประวัติศาสตร์ย้อนไปถึงสมัยอาณาจักรโรมัน ทำให้รู้ว่าปิราโนนั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐเวนิส ในสมัยนั้น เมืองนี้เคยมีอำนาจปกครองตนเองกึ่งหนึ่งโดยขุนนางท้องถิ่นที่คอยช่วยเหลือตัวแทนจาก
หลังจากที่คุณเสียชีวิตในปี 1324 เกิดการสู้รบขึ้นในคาบสมุทรอิตาลีไม่หยุดหย่อน ผมเสียใจที่ต้องบอกว่าบ้านเกิดของคุณนั้นซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกครอบครองโดยชาวฝรั่งเศสนามว่า นโปเลียน โบนาปาร์ต ที่ยึดครองดินแดนยุโรปได้เกือบทั้งหมดในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 มีการสู้รบอย่างต่อเนื่องไปจนกระทั่งช่วงที่นโปเลียนสูญเสียอำนาจ เมื่อปิราโนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรออสเตรีย ตอนต้นศตวรรษที่ 20 ก็เกิดสงครามใหญ่ในยุโรปอีกครั้งคือสงครามบอลข่านซึ่งเป็นชนวนไปสู่สงครามโลกที่ต่อมาเรียกกันว่า สงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากสงครามสิ้นสุดลง ปิราโนถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอิตาลีพร้อมกับเวนิสและคาบสมุทรอิสเทรียทั้งหมด หลายปีหลังจากนั้น สงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้นและอิตาลีก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ นำไปสู่การสถาปนาสาธารณรัฐอิตาลีอย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้
เพื่อช่วยให้ผมเข้าใจประวัติศาสตร์โลกในส่วนนี้ได้ดียิ่งขึ้น เจ้าของบาคาโรหยิบหนังสือที่เขาเขียนเองพร้อมภาพประกอบออกมาให้ผมดู หนังสือเล่มนี้ชื่อ Malvasia ซึ่งเป็นชื่อขององุ่นพันธุ์หนึ่งที่ในอดีตปลูกกันมากในแถบเมดิเตอเรเนียน เชื่อกันว่าองุ่นตระกูลมัลวาเซียเป็นองุ่นตระกูลเก่าแก่ ซึ่งน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากเกาะครีตในประเทศกรีซ พ่อค้าชาวเวนิสค้าขายประสบความสำเร็จมากจนไวน์มัลวาเซียเป็นที่รู้จักดีในหมู่คนรักไวน์ทั่วทั้งทวีป บางครั้งบาคาโรในเวนิสหลายแห่งซึ่งเสิร์ฟไวน์จากภูมิภาคแถบนี้ก็เรียกกันว่า ‘มัลวาซี’ แต่เมื่อเวนิสตกเป็นของอิตาลี ร้านเหล่านี้ก็หายไปเนื่องจากภาษีไวน์นำเข้าสูง แต่ก็ยังมีไวน์ที่ถูกลักลอบนำข้ามชายแดนเข้ามาอยู่บ้าง เขาจึงอยากเปิดบาคาโรเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้ามานั่งดื่มไวน์จากแถบทะเลเอเดรียติกกันได้ เขาบอกว่า สำหรับเขาแล้ว เอเดรียติกเป็นเสมือนสะพานที่เชื่อมวัฒนธรรมและผู้คนจากที่ต่างๆ ในคาบสมุทรอิตาลีเข้าด้วยกัน
การศึกษาเรื่องไวน์และประวัติศาสตร์ของผมยังต่อเนื่องไปถึงเกาะสุสานของเวนิส ซึ่งผมได้พบกับครูเกษียณทั้งสองคนอีกครั้ง เพราะทั้งคู่เป็นสมาชิกของสมาคม ‘Lagoon in a Glass’ ซึ่งเป็นชื่อที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและวัฒนธรรมการดื่มไวน์ของชาวเวนิสอย่างชัดเจน ครูเกษียณทั้งสองท่านแนะนำให้ผมได้รู้จักกับเพื่อนๆ ที่เป็นสมาชิกคนสำคัญของสมาคมนี้ ซึ่งก่อตั้งเมื่อ 15 ปีก่อน โดยครูชาวเวนิสคนหนึ่งที่เสียชีวิตไปแล้ว เขาเป็นผู้ค้นพบโรงกลั่นไวน์ในโบสถ์ร้างบนเกาะแห่งนี้ พวกเขาเล่าประวัติความเป็นมาให้ผมฟังและบอกว่าในช่วงที่คุณมีชีวิตอยู่ ที่แห่งนี้เป็นโบสถ์เล็กๆ ที่มีชื่อว่า ซาน คริสโตโฟโร ซึ่งในช่วงที่ฝรั่งเศสยึดครองได้ออกคำสั่งว่าการฝังศพบนเกาะเวนิสใหญ่นั้นไม่ถูกสุขอนามัย จึงได้เลือกเกาะชาวประมงเล็กๆ แห่งนี้ให้เป็นที่สุสานและเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ซาน มีเกเล ในเวลาต่อมา
ผู้อำนวยการสมาคมพาผมชมโบสถ์ร้างและเล่ากรรมวิธีทำไวน์ในสมัยก่อน ผมได้เห็นถังไวน์แบบต่างๆ และขวดโหลดินเผาซึ่งเรียกว่า ‘คเวฟริ’ เชื่อกันว่านี่เป็นวิธีการหมักไวน์ที่เก่าแก่โบราณมากที่สุดในโลกโดยมีต้นกำเนิดมาจากจอร์เจียซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ที่เป็นจุดรวมของยุโรปตะวันตกกับเอเชียตะวันตก ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันก็พบว่ามีการทำไวน์ในดินแดนที่เป็นประเทศจีนในตอนนี้ มีการพบขวดโหลในเมืองเจียหูที่มีอายุราว 7000 ปีก่อนคริสตกาล แต่อย่างที่คุณรู้ว่าไวน์ในโลกตะวันออกนั้นไม่ได้ทำจากองุ่น การเล่าถึงสถานที่ต่างๆ และขนบธรรมเนียมเฉพาะตัวของแต่ละแห่ง ทำให้เราได้รู้ข้อมูลอันล้ำค่าเกี่ยวกับเครื่องดื่มของชาวตะวันออก ในระหว่างการเดินทางอันยาวนานนั้น คุณได้ค้นพบทุกอย่าง ตั้งแต่เหล้าที่ทำจากข้าวจ้าวและข้าวสาลีหมัก ไปจนถึง ‘กุณโฑที่ใส่ไวน์หรือนม’ เต็มโต๊ะของข่านผู้เกรียงไกร รวมถึงไวน์ที่ทำจากอินทาผาลัม เครื่องเทศ ผลไม้ และอาหารชนิดอื่นๆ ในช่วงหลายพันปีของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ วัฒนธรรมทั่วโลกต่างก็มีกรรมวิธีหมักเหล้าของตนเอง ขณะที่หลายคนชอบเดินทางไปชื่นชมสิ่งมหัศจรรย์ของโลก สำหรับผมแล้ว การได้สัมผัสและลิ้มลองไวน์รสเยี่ยมจากทั่วโลกถือเป็นโบนัสที่น่ารื่นรมย์ แต่ผมมาจากดินแดนซึ่งการดื่มเหล้านั้นถือเป็นบาป ผมจึงประหลาดใจที่ได้รู้ว่าในยุคของคุณนั้นพระเป็นคนหมักเหล้าเสียเอง และยังคงทำอยู่จนกระทั่งสมัยนี้!


การทำแผนที่โลก...และสรวงสวรรค์บนโลกมนุษย์!
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้และลิ้มลองบนเกาะสุสานไม่ได้มีแค่การทำไวน์และการชิมไวน์เท่านั้น แต่ผมยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับแผนที่โลก ฟรา เมาโร ซึ่งเป็นชื่อนักเขียนแผนที่ชาวอิตาลีที่เป็นพระในสมัยที่บนเกาะแห่งนี้ยังมีโบสถ์อยู่ ตามบันทึกของโบสถ์แห่งนี้ หน้าที่หลักของเขาคือจัดเก็บค่าเช่าให้โบสถ์ แต่เขามีใจรักในการท่องเที่ยวมาตั้งแต่สมัยเป็นพ่อค้า แม้เขาจะเดินทางท่องเที่ยวในฐานะที่เป็นพระอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ยังชอบไปพูดคุยกับพ่อค้าที่กลับมาจากการเดินทางโพ้นทะเลอยู่เสมอๆ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาคิดวาดแผนที่โลกขึ้นมาซึ่งใช้เวลาทำนานหลายปีกว่าจะเสร็จ หลังจากที่คุณจากโลกนี้ไปแล้วราว 120 ปี แผนที่ ฟรา เมาโร ได้ชื่อว่าเป็นแผนที่โบราณที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในตอนนั้นถือเป็นแผนที่โลกที่ละเอียดและแม่นยำมากที่สุดเท่าที่เคยมีคนผลิตขึ้นมา ผมเชื่อว่าเขาคงจะใช้ข้อมูลจากเรื่องเล่าของคุณด้วย เพราะระบุถึงสถานที่ทั้งหมดที่คุณพูดถึงในเอเชียไว้ด้วย เพียงแต่จะกลับหัวกลับหางกัน โดยทิศใต้จะกลับขึ้นไปอยู่ด้านบนสุด และแผนที่โลกของเขายังมีภาพประกอบอย่างละเอียดหลายร้อยภาพพร้อมข้อความบรรยายประมาณ 3,000 ข้อความ เกี่ยวกับความรู้ทางภูมิศาสตร์ที่เขาเก็บสะสมมาจากคำบอกเล่าของนักเดินเรือที่ได้คุยกับเขานั่นเอง
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจก็คือแผนที่โลกฉบับนี้ได้วาดภาพสรวงสวรรค์ไว้ด้วย มีคนบอกผมว่าในสมัยนั้นมักมีการวาดสัญลักษณ์ของสรวงสวรรค์ไว้ในแผนที่ด้วยเสมอตามความเชื่อทางศาสนา แต่นี่เป็นครั้งแรกที่สวรรค์ถูกวาดไว้นอกโลก ซึ่งถ้ามองจากสิ่งที่เขาวาด ก็น่าสงสัยว่านักบวชผู้นี้คงไม่เชื่อเรื่องแนวคิดสวรรค์บนโลกสักเท่าใด คนในประเทศของผมนั้นมักจะบอกว่า บ้านคือสวรรค์และการที่ได้อยู่กับครอบครัวคือสวรรค์ที่แท้จริง ซึ่งอาจจะเป็นที่ไหนก็ได้ ในฐานะที่คุณเป็นนักเดินทางระดับตำนาน คุณคิดว่าสวรรค์บนโลกนั้นอยู่ที่ไ?
อ้อ ยังมีเรื่องความหมายของสวรรค์ในโลกสมัยใหม่ที่ผมอยากพูดถึงในแง่มุมขบขัน การได้ดื่มไวน์ดีๆ ในเวนิส ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงป้ายเล็กๆ ที่เคยอยู่ในครัวที่บ้าน ต่อมาผมถึงได้รู้ว่ามันเป็นคำที่ชาวไอริชชอบพูดกันในตอนดื่มเหล้า ซึ่งว่ากันว่า คนต้นคิดเป็นนักเขียนบทละครชาวไอริช ซึ่งจะพูดว่า ‘เมื่อเราดื่ม เราจะเมา เมื่อเราเมา เราก็หลับ เมื่อเราหลับ เราก็ไม่ไปทำบาป เมื่อเราไม่ทำบาป เราก็ได้ไปสวรรค์ ฉะนั้น...เราจงดื่มให้เมาแล้วไปสวรรค์กัน!’
ใช่แล้ว มีสวรรค์บนโลกให้เราได้ค้นหา และเราก็ควรสนุกกับทุกขณะ จริงไหม?
การค้นพบ... และมรดกจากคุณ
คุณไม่ใช่ชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางไปยังเอเชียหรือโลกตะวันออกหรอก แต่การเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ของคุณ ซึ่งเริ่มต้นในปี 1271 และใช้เวลานานเกือบ 25 ปีนั้น ทำให้ชาวตะวันตกเกิดความหลงใหลในโลกตะวันออก และยังทำให้ดินแดนเอเชียกลาง อินเดีย และจีนเข้ามาอยู่บนแผนที่ของชาวตะวันตก และส่งเสริมให้มีการค้นพบโลกของเรามากขึ้นในบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับชีวประวัติของคุณ คุณไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นนักสำรวจ แต่ชอบคำว่า ‘นักเดินทาง’ มากกว่า อย่างไรก็ตาม ปรัชญาในการเดินทางแบบทุ่มสุดชีวิตของคุณกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเดินทางรุ่นหลัง หนึ่งในนั้นคือเด็กหนุ่มชาวอิตาลีจากเมืองเจนัวซึ่งพกหนังสือของคุณที่ผ่านการอ่านมาจนช้ำขึ้นเรือไปในการเดินทางด้วย เขาอยากจะเดินตามรอยเท้าของคุณ ด้วยการเข้าไปหาผู้ที่สืบทอดอำนาจต่อจากกุบไลข่าน โดยที่ไม่รู้เลยว่าช่วงเวลาที่เดินทางไปยังตะวันออกนั้นอาณาจักรมองโกลได้ล่มสลายไปแล้ว ขณะที่เขากำลังวางแผนหาเส้นทางเดินเรือไปยังหมู่เกาะอินดีสตะวันออกเพื่อทำกำไรจากการค้าขายเครื่องเทศ โชคชะตากลับทำให้เขาได้ค้นพบ ‘โลกใหม่’ ที่มีชื่อว่า อเมริกา เข้าโดยบังเอิญ
ในไม่ช้าข่าวการเดินทางของนักสำรวจหนุ่มนามว่า คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ก็แพร่ไปทั่วยุโรป และนำไปสู่ยุคแห่งการสำรวจโลก ซึ่งมีเรือสินค้าจากยุโรปเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปทั่วโลกเพื่อมองหาเส้นทางการค้าและคู่ค้าใหม่ๆ มารองรับการเติบโตของยุคทุนนิยมในยุโรป นักสำรวจชาวยุโรปได้พบกับผู้คนใหม่ๆ และได้ทำแผนที่ดินแดนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ในช่วงระหว่างต้นศตวรรษที่ 15 ถึงต้นศตวรรษที่ 17 โลกของเราเริ่มวางรากฐานในเทคโนโลยีและแนวคิดใหม่ๆ จากสมัยเรเนซองส์ ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากยุคกลางไปสู่ยุคสมัยใหม่
ในฐานะที่คุณเป็นคนแรกที่นำวิธีการใช้เงินกระดาษไปบอกเล่าสู่โลกตะวันตก คุณคงทึ่งถ้าจะบอกว่าตอนนี้โลกของเราเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสดกันแล้ว อย่างไรก็ตาม คุณน่าจะภูมิใจที่ครั้งหนึ่งภาพนิ่งของคุณเคยถูกพิมพ์ลงในธนบัตรของประเทศคุณด้วย แม้ชื่อของคุณจะแปลว่าหนึ่งล้าน แต่น่าเสียดายที่รูปของคุณปรากฏอยู่บนธนบัตร 1,000 ลีร์เท่านั้น ทั้งที่ธนบัตรมูลค่ามากที่สุดนั้นมีถึง 500,000 ลีร์เลยทีเดียว เดี๋ยวนี้ไม่ได้ใช้เงินสกุลอิตาลีกันอีกแล้ว แต่มรดกตกทอดของคุณยังคงอยู่ต่อไป! รัฐบาลจีนและอิตาลีได้จัดทำเหรียญที่ระลึกถึงคุณจำนวนมาก นอกจากนี้ ภาพและการเดินทางของคุณยังปรากฏอยู่บนแบบจำลองของเงินยุคใหม่ที่เรียกว่า ‘housenote’ ซึ่งเสนอโดยสาธารณรัฐคาซัคสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ระหว่างทวีป บนเส้นทางสายไหมที่คุณเคยเดินทางไปเยือนก่อนที่จะล่มสลายลงพร้อมๆ กับจักรวรรดิมองโกล
นอกจากนี้ คุณควรจะภาคภูมิใจที่ธุรกิจและร้านรวงมากมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเดินทางได้นำเอาชื่อของคุณไปใช้ ตัวอย่างที่โด่งดังมากที่สุดน่าจะเป็นสนามบินมาร์โค โปโล ของเวนิสนี่เอง และผมอยากจะบอกด้วยว่าท่าเรือสมัยใหม่ในบ้านเกิดของคุณนี้ใช้สำหรับการเดินทางทางอากาศนะ ไม่ใช่ทางเรือ ซึ่งเรื่องนี้ ต้องขอบคุณศิลปินยุคเรเนซองส์ชาวอิตาลีเพื่อนร่วมประเทศของคุณ เพราะจินตนาการเครื่องร่อนมีปีกของเขาแท้ๆ ที่ทำให้คนบินได้! แม้ในสมัยของคุณจะใช้เวลาเดินทางไปยังดินแดนตะวันออกนานถึงสามปี แต่ผมกลับใช้เวลาเพียงไม่ถึงวันเพื่อเดินทางจากบ้านเกิดมาที่นี่ ไม่มีใครบอกได้ว่าในอนาคตโลกของเราจะเปลี่ยนไปอย่างไรอีกบ้าง แต่มนุษย์ในวันนี้สามารถเดินทางไปยังดวงจันทร์และสำรวจจักรวาลได้โดยใช้กล้องโทรทัศน์บินได้แล้ว และคุณอาจจะแปลกใจถ้าผมบอกว่าในโลกวันนี้มนุษย์สามารถเดินทางในโลกเสมือนจริงได้ด้วย แต่สำหรับผมแล้ว การได้พบปะพบหน้ากับคนจริงๆ ยังมีความสำคัญอยู่มาก เพราะถือเป็นบ่อเกิดของเรื่องราวอันยิ่งใหญ่และได้สัมผัสกับวัฒนธรรมที่หลากหลายของโลกมนุษย์ได้อย่างแท้จริง ใช่ไหมครับ ท่านอาจารย์โปโล?


ถนนทุกสายมุ่งหน้าสู่…Venezia
ผมเคยกล่าวถึงคำว่า ‘พลัดถิ่น’ ไปแล้วตอนที่พูดถึงความเป็นมาของตระกูลของผม คำนี้หมายถึง ‘พลัดพราก’ แต่เดิมใช้พูดถึงคนยิวที่อพยพออกจากบาบิโลเนียและคำนี้มีรากมาจากคำกรีกโบราณด้วย แต่สมัยนี้จะใช้คำนี้กับกลุ่มคนอพยพที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน เวนิสเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกในฐานะเมืองที่มีมรดทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าและเป็นเอกลักษณ์ และต้นปีนี้ชาวเวนิสยังได้เฉลิมฉลอง 1,600 ปีแห่งประวัติศาสตร์การเป็นเมืองที่ยินดีต้อนรับผู้อพยพ หลังจากหลบหนีจากการโจมตีของพวกบาบาเรียนในแผ่นดินใหญ่ ชนเผ่าร่อนเร่ Nomad จากชุมชนชายฝั่งได้สร้างเกาะลอยน้ำขึ้นกลางทะเลสาบเวนิส ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงได้ชื่อว่าเป็นผู้ลี้ภัย บางทีนี่อาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของโลกแห่งนี้ยังคงมาจากชุมชนพลัดถิ่นที่มีความหลากหลายในทุกวันนี้
ขณะที่ผมเดินทางเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นชุมชนชาวเวนิสนี้ ผมได้ไปเยือนเกาะแห่งหนึ่งที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและเป็นที่ตั้งของโบสถ์ ออร์โธดอกซ์ อาร์เมเนียน หลังจากที่เกาะแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของนิคมโรคเรื้อนและถูกทิ้งร้างไปช่วงหนึ่ง จนกระทั่งถูกมอบให้กับนักบวชชาวอาร์เมเนียที่ลี้ภัยจากเติร์กมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ปัจจุบันจึงกลายเป็นสำนักสงฆ์ที่สำคัญ มีทั้งห้องสมุดและแหล่งรวมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอาร์เมเนีย กลับไปที่เกาะใหญ่ ผมได้ไปชมจุดหนึ่งในย่าน ซาน มาร์โค อันคึกคัก ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของโบสถ์เก่าและยังมีซอยที่ตั้งชื่อตามชาวอาร์เมเนียอีกด้วย มรดกตกทอดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ก่อนที่นักบวชผู้น่าเลื่อมใสท่านนั้นจะเข้ามา ก็เคยมีชุมชนชาวอาร์เมเนียอาศัยอยู่บริเวณทะเลสาบเวนิสก่อนแล้ว
ขณะที่เวนิสเติบโตกลายเป็นเมืองใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปและเป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรการค้าอันยิ่งใหญ่ซึ่งขยายครอบคุลมไปไกลถึงทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียน บางส่วนในประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมืองแห่งนี้ก็ยังคงมีความเชื่อมโยงกับจักรวรรดิออตโตมันและอารยธรรมมุสลิมจากตะวันออกใกล้อยู่ไม่เสื่อมคลาย ผมได้รู้จักกับพ่อค้าชาวอิหร่านที่เป็นประธานสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมเปอร์เซียที่นี่ จริงๆ แล้วเขาเป็นเจ้าของธุรกิจบางอย่าง แต่ด้วยความรักที่มีต่อรากฐานดั้งเดิมทำให้เขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางวัฒนธรรมหลายอย่างจากโลกอิสลามซึ่งจัดขึ้นในอิตาลี ตอนที่ผมไปที่ร้านขายพรมของเขา เขาต้อนรับผมด้วยของหวานจากประเทศบ้านเกิด ซึ่งสำหรับผมคิดว่ารสชาติคล้ายกับขนมอินเดีย นอกจากนี้เขายังให้ผมดื่มชาสมุนไพรที่ทำจากหญ้าฝรั่น ซึ่งคุณอาจทราบดีว่าหญ้าฝรั่นมีต้นกำเนิดมาจากอิหร่านและเป็นเครื่องเทศที่มีราคาสูงสุดในโลกถ้าวัดจากน้ำหนัก เขาเล่าให้ผมฟังว่าในสมัยโบราณ ซึ่งคุณอาจจะยังมีชีวิตอยู่ หญ้าฝรั่นเป็นเครื่องเทศล้ำค่าอย่างหนึ่งในบรรดาสมบัติและเครื่องเทศที่พ่อค้าอิหร่านนำเข้ามาที่นี่ แต่ผมคาดไม่ถึงเลยว่าหญ้าฝรั่นราวหนึ่งกระเป๋าเดินทางนั้นสามารถนำมาสร้างวังปาลัซโซริมคลองใหญ่ ได้! เขายังเล่าให้ผมฟังถึงวิธีที่พ่อค้าเหล่านี้นำของขวัญมีค่ามามอบให้แก่ดยุคและชนชั้นสูงของเวนิส หลักฐานที่เขานำมาให้ผมดู เช่น พรมเปอร์เซียขนาดเล็กที่เขาเก็บสะสมไว้ ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่ 17 เขาไม่ได้เปิดเผยมูลค่าแต่บอกแค่ว่าเป็นของสะสมที่ราคาสูงที่สุดของเขา อ้อ ผมเกือบลืมบอกไปว่าร้านพรมอีกสาขาหนึ่งของเขามีชื่อว่า Marco Polo ผมอยากรู้ว่าคุณเคยนำพรมจากตะวันออกติดมือกลับมาบ้านบ้างหรือเปล่า ถ้าเคย ตอนนี้จะต้องมีมูลค่าเป็นตัวเงินมหาศาลเชียวล่ะ!
ใคร่ครวญเรื่องชีวิต
เรื่องราวประวัติแต่หนหลังของเวนิสที่ผมได้ฟังมา ทำให้ผมตระหนักว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้ตั้งชุมชนในยุคต้นๆ อาจเป็นประเด็นที่อ่อนไหวอยู่พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า ‘เก็ตโต’ ซึ่งราว 500 ปีก่อนนั้น คำนี้หมายถึงย่านแห่งหนึ่งในเมืองเวนิส ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นที่อยู่ของชาวยิวและแยกต่างหากจากคนทั่วไป ภายหลังคำนี้ถูกนำไปใช้ทั่วโลกเพื่อพูดถึงชุมชนแออัดในเมืองใหญ่ซึ่งเป็นที่อาศัยของชนกลุ่มน้อย และบ่อยครั้งคนในชุมชนเหล่านั้นก็ขาดโอกาสในด้านต่างๆ และเป็นที่รู้กันดีว่ามีฐานะยากจน คำนี้ยังใช้เพื่อโดดเดี่ยว แบ่งแยก หรือ ‘จำกัด’ บางพื้นที่หรือชนกลุ่มน้อย และปัจจุบันถือเป็นการเหยียดผิวจากหลายๆ คน เพราะเหมือนเป็นนัยว่าสมาชิกในกลุ่มนั้นแตกต่างจากคนกลุ่มใหญ่ในสังคม
หลังจากได้พูดคุยกับคนที่สืบเชื้อสายมาจากชาวยิวในเวนิส ทำให้ผมนึกถึงแม่ ซึ่งไม่เคยพูดถึงประสบการณ์การย้ายถิ่นฐานของตนเองเลย บางทีแม่คงไม่อยากให้ลูกๆ รู้หรือเสียใจกับความขัดแย้งในอดีตอันน่ากลัว แต่ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอะไรก็ตาม ผมเพิ่งมาสืบสาวเรื่องราวเหล่านั้นหลังจากที่ผมกลายเป็นพ่อคนและแม่ก็จากผมไปนานแล้ว ทำให้ผมได้สร้างงานศิลปะเพื่อเล่าถึงเรื่องราวชีวิตครอบครัวของผม พร้อมๆ ไปกับประวัติความเป็นมาของชุมชนต่างๆ ทั้งหมดที่ผมได้รับรู้มา
นอกจากนี้ ผมยังอยากเล่าถึงตอนที่ได้ไปเยี่ยมสถาบันทางวัฒนธรรมแห่งโรมาเนียในเมืองเวนิสด้วย ต้องยอมรับว่าตัวเองไม่เคยคุ้นกับประวัติหรือเรื่องราวและวัฒนธรรมเหล่านั้นมาก่อนเลย แต่ความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับประเทศนี้ก็ถูกปลุกเร้าขึ้นมา หลังจากผมพบว่าชาวโรมาเนียถือเป็นกลุ่มผู้อพยพในประเทศอิตาลีที่มีจำนวนมากที่สุดในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับชาวโรมาเนียเพียงไม่กี่คนเท่านั้น การได้ฟังศิลปินหญิงชาวโรมาเนียที่นำเสนองานแสดงศิลปะของเธอที่นั่น ทำให้ผมเห็นชัดเจนว่างานศิลปะของเธอนั้นสะท้อนถึงประสบการณ์ชีวิตส่วนตัว และช่วยให้เราใกล้ชิดกับคนอื่นๆ และเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของตัวเราในประวัติศาสตร์อีกด้วย การได้ร่วมแชร์ประสบการณ์กับผู้อำนวยการและพูดคุยถึงหนังสือมากมายที่เขาเขียนเกี่ยวกับแผ่นดินบ้านเกิด และความรู้สึกที่เขามีต่อโลกวันนี้ ทำให้ผมหวลนึกถึงวิธีการที่ศิลปะสะท้อนถึงวัฒนธรรมและสังคมของเราอีกครั้ง ผมสงสัยว่าบทบาทของศิลปินในยุคสมัยของคุณนั้นเป็นอย่างไร และคุณเคยคิดหรือไม่ว่าอาจมีงานศิลปะรูปแบบใดก็ตามที่จะสามารถเปลี่ยนโลกของเราได้ในสักวันหนึ่ง?
โรคระบาดใหญ่และการเอาชีวิตรอด
ชื่อเสียงของเวนิสในฐานะศูนย์กลางทางการค้าและความสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรมนั้นถือเป็นสิ่งที่ขึ้นชื่อและยอมรับกันดี แต่ไม่ค่อยมีใครืราบถึงบทบาทที่สำคัญของเมืองนี้ในการต่อสู้กับโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไปอย่างมากมายที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นั่นก็คือ กาฬโรค ซึ่งเป็นโรคระบาดที่คร่าชีวิตคนยุโรปไปมากถึงหนึ่งในสามในสมัยกลางศตวรรษที่ 14 ที่คุณเพิ่งเสียชีวิตไปเพียงยี่สิบกว่าปี สมัยนั้นยังไม่มีคำว่า ‘โรคระบาดใหญ่’ หมายถึงโรคระบาดใหญ่ที่แพร่ไปทั่วโลก เกาะห่างไกลบางแห่งในทะเลสาบเวนิสกลายเป็นที่กักตัวและรักษาคนป่วย สมัยนั้นเรือจากท่าต่างๆ ที่มีคนติดเชื้อโรคและเข้ามาที่เวนิสจะต้องแช่สมอรอนานถึง 40 วันจึงจะเข้ามาเทียบท่าได้ และธรรมเนียมนี้เองที่กลายเป็นที่มาของคำว่า ‘quarantine’ ซึ่งเป็นคำที่มีรากมาจากคำภาษาอิตาลี quaranta giorni ซึ่งหมายถึง 40 วัน อย่างที่ผมเล่าไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่า ผมเริ่มต้นด้วยการพักที่นี่เพื่อใช้เวลากักตัว แม้ว่าผมจะโชคดีที่ต้องกักตัวเพียงแค่ 10 วันเท่านั้นก็ตาม!
ผมควรจะกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ชาวเวนิสเท่านั้นที่รู้จักวัฒนธรรมการสวมหน้ากาก ในช่วงสองปีมานี้ การสวมหน้ากากได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนทั้งโลกไปแล้วนับตั้งแต่โรคระบาดใหม่เกิดขึ้นในโลก เพียงแต่ไม่ใช่การสวมหน้ากากในงานคาร์นิวัลหรืองานเฉลิมฉลองแต่อย่างใด แต่เป็นหน้ากากที่คนทั่วโลกต้องสวมเพื่อให้รอดพ้นจากโรคระบาด! อย่างไรก็ตาม ทุกคนหวังว่าโรคชนิดใหม่นี้จะสิ้นสุดลงในเวลาไม่ช้าเพื่อที่ทุกคนจะสามารถกลับไปเพลิดเพลินกับความแปลกประหลาดต่างๆ ในชีวิตของเรา ในโลกอันสวยงามใบนี้กันได้อีกครั้งหนึ่ง


ทริปสั้นๆ ใน OK World และ Navinland
ตอนนี้ผมจะขอแนะนำศัพท์ใหม่ซึ่งปัจจุบันเป็นคำที่ใช้พูดหรือเขียนบ่อยที่สุดในโลก คำนี้เขียนง่ายๆ ว่า OK หมายถึง ‘พอใช้’ หรือ ‘พอรับได้’ ไม่ถึงกับ ‘แย่’ คำว่า OK นี้มีที่มาจากโลกตะวันตก แต่สำหรับผมแล้วคำนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานความเป็นมาของผม เนื่องจากว่าร้านขายผ้าของครอบครัวเราในประเทศไทยมีชื่อว่า OK Store ย้อนไปสมัยที่ทวดและบรรพบุรุษของเราโยกย้ายมาอยู่ประเทศไทย พวกเขาพูดภาษาไทยไม่ได้เลย หนำซ้ำรูปร่างหน้าตาของพวกเขายังแตกต่างอย่างมากและไม่คุ้นเคยต่อคนท้องถิ่น ดังนั้น ดังนั้น พวกเขาจึงมองหาวิธีที่จะผสานวัฒนธรรมและชีวิตของตนเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ทางหนึ่งที่จะปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ง่ายๆ ก็คือการตั้งชื่อร้านนั่นเอง ชาวอินเดียที่มาจากปัญจาบส่วนใหญ่ทำธุรกิจค้าผ้าและมักจะตั้งชื่อร้านด้วยคำที่มีความหมายดีๆ หรือมีความหมายเชื้อเชิญลูกค้า ร้านของเราเลือกตั้งชื่อร้านว่า OK ผมเองก็ไม่รู้เหตุผลว่าทำไมจึงเลือกคำที่มีความหมายสากลคำนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เด็กจนโตผมก็รู้ว่า ใครๆ ต่างก็เรียกพ่อของผมด้วยชื่อ นายโอเค
น่าเสียดายที่ร้าน OK เพิ่งปิดตัวลงหลังจากที่พ่อของผมเสียชีวิตไป ตามธรรมเนียมของคนอินเดีย ลูกชายคนหนึ่งคนใดจะต้องรับสืบทอดธุรกิจของครอบครัว แต่ทั้งพี่ชายและผมต่างก็เลือกทำอาชีพอื่น และโชคชะตาทำให้ผมได้ไปประเทศญี่ปุ่น ผมได้แต่งงานกับหญิงชาวญี่ปุ่น และลูกสาวของเราก็เกิดและเติบโตในประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าคนในครอบครัวของเราจะเปลี่ยนรุ่นไป ผมยังเชื่อเสมอว่ามรดกตกทอดเป็นสิ่งสำคัญ และรากฐานที่มาของบรรพบุรุษถือเป็นสิ่งที่เราสมควรที่จะรักษาไว้ ดังนั้นงานศิลปะของผมหลายชิ้นจึงเป็นการค้นหานิยามของคำว่า OK ในขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงมุมมองส่วนตัวที่ผมมีต่อชุมชนต่างๆ ที่ผมเดินทางไป สำหรับในเวนิส ผมเล่าถึง ‘OK World’ ของผมให้หลายๆ คนที่ผมได้พบเจอที่นี่ แต่ดูเหมือนพวกเขายังไม่เข้าใจนัก แต่ผมเชื่อว่าความสุขกับ ‘ชีวิตของ OK’ นั้นถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเราทุกคน
ผมอยากจะเล่าเรื่องราวของ Navinland ซึ่งเป็นดินแดนในจินตนาการที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชื่อของผม ในภาษาสันสกฤต คำว่า นาวิน หมายถึง ‘ใหม่’ แต่ในประเทศบ้านเกิดของผม คำนี้มีนัยหมายถึงคนที่เดินทางโดยทางทะเลหรือนักเดินเรือ และคำว่า navigator ในภาษาอังกฤษก็มีรากมาจากคำว่า Navin เช่นกัน ราวสิบปีก่อน ผมตัดสินใจเสาะหาคนชื่อ Navin ไม่ว่าจะเป็นใครอยู่ที่ไหน ผมถึงขนาดสร้างปฏิญญา Navinland สำหรับให้คนชื่อ Navin มาลงนามร่วมกัน ซึ่งได้จัดขึ้น ในงานนิทรรศการศิลปะโลก Venice Biennale นี่เอง เป้าหมายของกิจกรรมนี้ก็เพื่อจะสร้างความตระหนักรู้ทั่วโลกเกี่ยวกับชุมชนที่ไร้พรมแดนของเรา ซึ่ง Navin และผองเพื่อนเติบโตขึ้นโดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ เรียกว่าชาว Navizens
ผมอยากบอกว่าในการเดินทางไปเวนิสครั้งล่าสุดผมได้พบกับโลกใหม่ของ Navin เมื่อได้พบกับพ่อค้าชาวอิหร่านที่เคยกล่าวถึงก่อนหน้านี้ ตอนที่เขาเล่าถึงประวัติอันยาวนานของวัฒนธรรมเปอร์เซียและการที่บรรพบุรุษของเขาได้เข้ามาเชื่อมโยงกับชีวิตแบบเวนิส เขาได้แนะนำให้ผมรู้จักกับ ‘Novin’ ซึ่งเป็นชื่อยี่ห้อของชาหญ้าฝรั่นที่ผมดื่ม ซึ่งน่าจะมีที่มาจากชื่อเจ้าของแบรนด์นั่นเอง ผมแปลกใจว่าคำอาหรับคำนี้ก็มีความหมายว่า ‘ใหม่’ ด้วยเช่นกัน เขายังบอกด้วยว่าบรรพบุรุษของผมน่าจะสืบเชื้อสายไปถึงชาวปาร์ซีซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในอนุทวีปที่ดั้งเดิมเคยอาศัยอยู่ในเปอร์เซีย ผมเองไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อน แต่ข้อสมมติฐานของเขาก็แสดงให้เห็นว่ายังมีสิ่งใหม่ๆ ให้ค้นหาเสมอในโลกแห่ง Navin!
กลับสู่ความเป็นจริง
เหตุผลที่ผมมาที่นี่ก็เพื่อเข้าร่วมงาน Venice Biennale ครั้งที่ 59 ซึ่งจัดล่าช้าไปหนึ่งปีเนื่องจากโรคระบาด ผมห่างหายจาก Navinland ไปหลายปีและแผนดั้งเดิมที่วางไว้สำหรับ OK World ก็เลือนหายไปแล้ว แต่ช่วงเวลานี้ในโลกก็ทำให้ผมมองหาไอเดียใหม่ๆ สำหรับงานของผมจากประสบการณ์ในชีวิตจริง และการเดินทางก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ปัจจุบันเป็นยุคที่เราเรียกกันว่า ‘ชีวิตวิถีใหม่’ ซึ่งการเดินทางสำรวจโลกไม่ง่ายดายเหมือนอย่างที่เคยเป็นจนกระทั่งเร็วๆ นี้ ฉะนั้น ตอนที่พาสปอร์ตของผมได้รับการประทับตราครั้งแรกในรอบ 20 เดือน ผมจึงดีใจมาก! ผมได้ใช้โอกาสนี้เรียนรู้เกี่ยวกับบ้านเกิดของคุณและพบปะพูดคุยกับชาวเวนิสมากมาย แน่นอนว่าผมอาจจะตกหล่นประวัติที่มาบางส่วนของคนเหล่านั้นไปบ้าง แต่การได้พบปะกับชุมชนที่หลากหลายที่นี่กระตุ้นให้ผมคิดเกี่ยวกับตัวเองและควรจะตอบสนองงานศิลปะของผมได้อย่างไร


การกล่าวอำลา... และความทรงจำที่ดี
วันสุดท้ายของผมในเวนิสถือเป็นวันที่ค่อนข้างพิเศษวันหนึ่ง! สตรีชาวเยอรมันที่เจอกันตอนมื้อกลางวันบนเกาะสุสานได้อาสาพาผมไปเที่ยวทะเลสาบกับเรือของเธอ บ่ายวันนั้นอากาศเย็นเฉียบขณะที่เรือของเราแล่นไปในคลองใหญ่แต่ผมกลับสนุกมาก ขณะที่คุยกันพร้อมกับเพื่อนชาวอิตาเลียน ผมรู้สึกประทับใจอย่างมากตอนที่เธอบอกว่านิยามของคำว่าบ้านในความหมายของเธอ หมายถึง ที่ซึ่งคุณสามารถแชร์ชีวิตส่วนตัวของคุณกับคนอื่น ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดก็ตาม
และในงานเลี้ยงส่งของผม คุณครูเกษียณอีกคนหนึ่งที่ทำอาหารกลางวันแบบเวนิสมื้อแรกเลี้ยงผมได้เชิญผมกับเพื่อนของเธอสองสามคนไปทานอาหารที่บ้าน เราคุยกันหลายภาษาแต่ผมรู้สึกดีมากที่ได้ฟังเรื่องราวของบรรพบุรุษและชมภาพถ่ายของต้นตระกูลของเธอ มีภาพถ่ายตอนที่เธอไปเที่ยวสองประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของผมคืออินเดียและไทยด้วย ตอนนอกจาก ‘ภาพยนตร์’ ที่ผมเคยพูดถึงไปแล้วข้างต้น ตอนนี้คุณอาจจะสงสัยว่า ‘ภาพถ่าย’ นี่คืออะไร? ผมต้องบอกว่าทั้งสองอย่างนั้นเป็นวิธีการเก็บบันทึกความเป็นจริงที่เราเห็น ภาพถ่ายถูกคิดค้นขึ้นก่อนฟิล์มสำหรับถ่ายภาพเคลื่อนไหว เครื่องมือเหล่านี้ไม่เพียงแต่สำหรับใช้เพื่อความบันเทิงแล้ว ยังถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนเราสามารถย้อนรำลึกถึงอดีตได้อีกด้วย
ไดโอรามาและคำอธิบายเกี่ยวกับโลกของผม
พรุ่งนี้ผมจะกลับบ้านแล้วแต่ก็หวังว่าจะได้กลับมาเยือนที่นี่อีกครั้งในฤดูใบไม้ผลิเมื่อจะมีการเปิดงาน Venice Biennale ครั้งต่อไป สำหรับงานของผมในครั้งนี้ ผมตั้งใจจะสร้างเวทีกลางแจ้งโดยมีฉากหลังเป็นภาพวาดขนาดใหญ่เกี่ยวกับที่มาของผม และผมอยากจะสัมผัสพรมแดนของวัฒนธรรมผ่านสิ่งที่เรียกว่า ไดโอรามา ซึ่งก็เป็นคำกรีกโบราณอีกคำที่หมายถึงอุปกรณ์มองภาพหรือโรงละครเคลื่อนที่ ความหมายตรงตัวของคำนี้หมายถึง ‘ผ่านสิ่งที่มองเห็น’ ดังนั้นไดโอรามาที่ผมจะสร้างขึ้นจะแสดงถึงสิ่งที่ผมได้พบเห็นตอนที่มาเยือนบ้านเกิดของคุณและประสบการณ์เกี่ยวข้องกับเรื่องราวต่างๆ ที่ผมได้รับรู้มา นอกจากเรื่องเล่าเหล่านี้แล้ว ผมหวังด้วยว่าเวทีไดโอรามาที่สร้างขึ้นบนพื้นจาร์ดินิจะเป็นพื้นที่ซึ่งเปิดให้กับทุกคนมาแบ่งปันประสบการณ์กันได้
ขณะที่เขียนจดหมายฉบับนี้ ผมคิดอยู่ว่าจะเรียกงานศิลปะชิ้นนี้ว่าอย่างไรดี ผมจะขออนุญาตยืมชื่อหนังสือ
The Description of the World ของคุณมาใช้กับงานที่ผมตั้งใจไว้ได้หรือไม่? ผมยอมรับว่าเรื่องของผมเทียบไม่ได้เลยกับเรื่องราวการผจญภัยอันยิ่งใหญ่ของคุณ แต่คุณเป็นผู้จุดประกายให้ผมเขียนทุกอย่างขึ้นมาแม้ว่าผมจะยังบางเรื่องที่สงสัยผลงานของตัวเองในสัญญาชิ้นแรกนี้ แม้ว่าจดหมายฉบับนี้จะเป็นเพียงเรื่องที่ผมจินตนาการขึ้นมา ผมหวังว่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับบ้านเกิดของคุณจะเป็นภาพสะท้อนถึงยุคสมัยของเราและชีวิตของผู้คนหลากหลายในโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่งใบนี้ และผมหวังว่าสิ่งที่ผมกำลังจะสร้างสรรค์ขึ้นจากเรื่องเล่าแห่งการเดินทางส่วนตัวนี้จะเชื่อมโยงงานศิลปะของผมให้ใกล้ชิดทุกคน
ขณะที่คุณนอนรอความตาย มีคนพยายามบังคับให้คุณยอมรับว่าหนังสือของคุณนั้นเกต็มไปด้วยเป็นเรื่องโกหก แต่คุณกลับจากไปพร้อมกล่าวว่า ‘ฉันยังเล่าได้ไม่ถึงครึ่งที่เห็นมา’ ผมคิดว่านี่เป็นคำกล่าวที่ยอดเยี่ยมมาก เพราะย้ำถึงความแตกต่างระหว่างประสบการณ์จริงของเรากับคำบอกเล่าที่อยู่ในบทบันทึกทุกรูปแบบ ผมได้ส่งภาพถ่ายจำนวนหนึ่งมาพร้อมกับจดหมายฉบับนี้ ซึ่งผมได้เลือกมาจากหลายพันภาพ พร้อมกับฟิล์มภาพยนตร์ที่บันทึกไว้ตอนอยู่ในเวนิส ซึ่งแสดงถึงสิ่งที่ผมเจอมาได้ไม่ถึงครึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือเป็นการบันทึกอีกช่วงเวลาหนึ่งที่งดงามที่สุดในชีวิตผม!
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณจะเพลิดเพลินไปกับเรื่องเล่าจากอนาคตใน The Description of the World ในฉบับของผมเอง ขอขอบคุณสักล้านครั้งนะครับ Mister Million!
เชา,
นาวิน
17 ธันวาคม 2021
เวนิส
Biennale Arte 2022: ได้เวลาฝันแล้ว
Biennale Arte 2022: ได้เวลาฝันแล้ว
Biennale Arte 2022 ได้กลับมาเยือนเวนิสครั้งที่ 59 อย่างน่าทึ่งในปีนี้ นี่เป็นอีกครั้งที่เราได้ร่วมเป็นพันธมิตรหลักในการจัดงานครั้งนี้